ฮิสปาเนียภายใต้อำนาจวิซิกอท (คริสต์ศตวรรษที่ 5-8) ของ ประวัติศาสตร์สเปน

ราชอาณาจักรวิซิกอทในปี ค.ศ. 500

ในคริสต์ศตวรรษที่ 4-5 ชาวฮั่น (Huns; hunos) ซึ่งมาจากเอเชียกลางได้เข้าโจมตีและผลักดันชนเผ่าเยอรมันให้เข้ามาในเขตแดนของจักรวรรดิโรมัน ชนเผ่าเหล่านี้ได้สร้างความวุ่นวายและก่อสงครามกับโรมันตามภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้จักรวรรดิค่อย ๆ อ่อนแอลง แต่ในช่วงเดียวกันก็เกิดกระบวนการทำทุกอย่างให้เป็นโรมันขึ้นในหมู่ชนเผ่าเยอรมันและชนเผ่าฮั่นตามแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบซึ่งเป็นพรมแดน เผ่าเยอรมันพวกวิซิกอท (Visigoths; visigodos) ได้หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายแอเรียนเมื่อประมาณปี ค.ศ. 360

ในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 406 ชาวแวนดัล (Vandals; vándalos) ชาวซูเอบี (Suebis; suevos) และชาวอาลัน (Alans; alanos) ได้ใช้โอกาสขณะที่น้ำในแม่น้ำไรน์มีสภาพเป็นน้ำแข็งเข้ารุกรานจักรวรรดิโดยใช้กำลังจำนวนมาก และอีก 3 ปีถัดมา (ค.ศ. 409) อนารยชนกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ได้ข้ามเทือกเขาพิเรนีสเข้าสู่ดินแดนคาบสมุทรไอบีเรีย[28][29] และตกลงกันเพื่อแบ่งพื้นที่ปกครองทางภาคตะวันตกและภาคใต้ของคาบสมุทร

ส่วนพวกวิซิกอทนั้นสามารถพิชิตโรมได้ในปี ค.ศ. 410[30] จากนั้นได้อพยพเข้ามาในกอล (ประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน) และได้กลับไปช่วยเหลือกองทัพของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในการขับไล่พวกอาลันและพวกแวนดัลให้เคลื่อนย้ายไปอยู่ทางตอนเหนือของแอฟริกา[30][31] (โดยไม่ได้ทิ้งมรดกอะไรไว้ในวัฒนธรรมของสเปนมากนัก) จักรพรรดิโฮโนรีอุสจึงทรงยกมณฑลกัลเลียอากวีตาเนีย (ปัจจุบันคือภาคกลางและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส) ให้พวกวิซิกอทจัดตั้งอาณาจักรของตนขึ้นที่ตูลูส จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายลงเมื่อปี ค.ศ. 476 ราชอาณาจักรวิซิกอทจึงมีอิสระอย่างเต็มที่

อาณาจักรของชาวซูเอบีและอาณาจักรของชาววิซิกอทในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6

ต่อมาในปี ค.ศ. 507 วิซิกอทต้องสูญเสียอำนาจในกอลตอนใต้ให้กับชาวแฟรงก์ (Franks; francos) ซึ่งเป็นเผ่าเยอรมันอีกพวกหนึ่ง เหลือเพียงดินแดนเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จึงได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่บาร์เซโลนา และย้ายไปที่โตเลโดทางภาคกลางของคาบสมุทรไอบีเรีย พร้อม ๆ กับเริ่มขยายอำนาจของตนออกไป พระเจ้าลีอูวีกิลด์ทรงเป็นกษัตริย์ชาววิซิกอทที่สำคัญที่สุด[32] ในสมัยของพระองค์ ชาววิซิกอทสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคเหนือ (กันตาเบรียและบาสก์) ได้ในปี ค.ศ. 574 และพิชิตอาณาจักรของชาวซูเอบีทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (กาลิเซีย) ได้เมื่อปี ค.ศ. 584[33] นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้าซูอินตีลา วิซิกอทยังได้ดินแดนทางภาคใต้ซึ่งเคยเสียให้กับจักรวรรดิไบแซนไทน์กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์เมื่อปี ค.ศ. 624

พวกวิซิกอทมักจะรักษาสถาบันและกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมันไว้ ความใกล้ชิดของราชอาณาจักรวิซิกอทกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและความต่อเนื่องของการค้าในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกนั้นเป็นตัวสนับสนุนวัฒนธรรมของวิซิกอทเอง แต่ในระยะแรกชาววิซิกอทจะไม่ข้องเกี่ยวกับชนพื้นเมือง[34] (ซึ่งอยู่มาก่อนและมีจำนวนมากกว่า) โดยแยกตัวออกไปอยู่ในเขตชนบทและนำระบบฟิวดัลรูปแบบหนึ่งเข้าไปใช้ ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดนั่นคือการลดลงของจำนวนประชากรในเขตเมือง[34] รวมทั้งทำให้ภาษาของพวกวิซิกอทส่งอิทธิพลต่อภาษาของคาบสมุทรไอบีเรียในปัจจุบันน้อยมาก[34][35]

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมในอาณาจักรวิซิกอทไม่รวมเป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกันคือ ชาวฮิสปาเนียนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ชาววิซิกอทยังคงนับถือศาสนาคริสต์นิกายแอเรียน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 587 พระเจ้าเรกคาเรดที่ 1 ซึ่งทรงเป็นโอรสพระองค์รองของพระเจ้าลีอูวีกิลด์ รวมทั้งชาววิซิกอทส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปนับถือคาทอลิก[36] และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับชาวฮิสปาเนีย ทำให้พระคาทอลิกมีอำนาจมากขึ้นและหลังจากการประชุมสภาแห่งโตเลโดครั้งที่ 4 เมื่อปี ค.ศ. 633 สภาสงฆ์ได้ประกาศว่า ชาวยิวทุกคนต้องเข้าพิธีล้างบาป

เนื่องจากตำแหน่งกษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรนั้นส่วนใหญ่มาจากการคัดเลือกจากชนชั้นสูงไม่ใช่การสืบราชสันตติวงศ์ ปัญหาการแย่งชิงราชบัลลังก์จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้งและเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความอ่อนแอของราชอาณาจักร หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวิตตีซาในปี ค.ศ. 709 ชนชั้นสูงได้เลือกโรเดอริก ดุ๊กแห่งไบตีกาขึ้นเป็นกษัตริย์ โรเดอริกมีชัยชนะในการทำสงครามกับโอรสของพระเจ้าวิตตีซา (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นใคร แต่สันนิษฐานว่าคืออากีลา) ซึ่งอ้างสิทธิ์ในการปกครองอาณาจักรเช่นกัน โอรสของพระเจ้าวิตตีซาพร้อมพรรคพวกจึงหนีไปที่เมืองเซวตา ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของแอฟริกา และได้รวมกลุ่มกับชาวยิวและชาวคริสต์นิกายแอเรียน (ซึ่งอพยพมาหลังจากถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา) ไปขอความช่วยเหลือจากอาณาจักรของชาวมุสลิมซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ที่ตะวันออกกลางเพื่อต่อต้านกำลังของพระเจ้าโรเดอริก ด้วยเหตุนี้ฮิสปาเนียจึงต้องเผชิญกับการรุกรานระลอกใหม่อีกครั้ง

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์สเปน http://www.ucalgary.ca/applied_history/tutor/eurvo... http://www.bartleby.com/65/ch/Charles5HRE.html http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/558200/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/590747/T... http://www.clarin.com/diario/2003/03/29/um/m-53749... http://www.generalisimofranco.com/GC/batallas/006.... http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-...